การระดมสรรพกำลังทุกด้านเพื่อแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ในยุค
คสช.นี้ และยังให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4
สน.) เป็น "หน่วยนำ" ในการขับเคลื่อนทั้งยุทธการและงบประมาณ
เพื่อความเป็นเอกภาพ ทำให้หลายฝ่ายคาดหวังว่าสถานการณ์ความไม่สงบที่ปลายด้ามขวานจะดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่แล้วก็ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นต่อเนื่อง
แม้ปริมาณและความถี่ดูเหมือนจะลดลง แต่ในทางความรู้สึกไม่ลดลงเลย
ปัญหาอยู่ตรงไหน? เป็นคำถามที่ใครหลายคนคงตั้งขึ้นในใจ
“ทีมข่าวอิศรา” จับเข่าคุยกับ
พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย อดีตรองแม่ทัพภาคที่ 4
ซึ่งได้รับการยอมรับทั้งในแง่ฝีมือการรบ
และองค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างกลุ่มก่อความไม่สงบนาม “บีอาร์เอ็น” มากที่สุดคนหนึ่ง
เพื่อไขคำตอบให้กระจ่าง
ไม่เหมือนสู้คอมมิวนิสต์
สงครามความไม่สงบ ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน
มักถูกนำไปเปรียบเทียบกับสงครามต่อต้านผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ไทยหาทางออกได้อย่างงดงามเมื่อหลายสิบปีก่อน
แต่กับมุมมองของ พล.อ.สำเร็จ ซึ่งเคยผ่านมาแล้วทั้ง 2
สมรภูมิ กลับเห็นว่าแทบไม่มีอะไรที่เหมือนกัน
“ในแง่ยุทธวิธีมันมีความแตกต่างกัน
เพราะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จะตั้งฐานที่มั่นบนภูเขา
หรือพื้นที่ที่เข้าไปถึงได้ยาก เช่น เขาค้อ (จ.เพชรบูรณ์) ภูหินร่องกล้า
(จ.พิษณุโลก, เลย) หรือถ้าภาคใต้ก็อย่างเขาช่องช้าง (จ.สุราษฎร์ธานี)
และจะมีหมู่บ้านที่คอมมิวนิสต์จัดตั้งไว้โดยรอบฐาน
เพื่อสกัดกั้นการเข้าตีของเจ้าหน้าที่ พร้อมรายงานความเคลื่อนไหวและส่งเสบียงอาหาร
การรบช่วงนั้นจึงใช้เครื่องบินและทหารราบในการเข้าปราบปราม
แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถรบชนะผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ได้ทันที
ในที่สุด พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2
ในตอนนั้น ได้ค้นพบวิธีการเข้าถึงกลุ่มคนเป้าหมาย โดยการใช้งานมวลชน
คือการทำให้มวลชนที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์มาเข้ากับฝ่ายรัฐ
ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์อ่อนกำลังลงไป ประกอบกับสถานการณ์คอมมิวนิสต์สากลมีความขัดแย้งกันเอง
ทำให้ฝ่ายรัฐบาลได้เปรียบขึ้นมา เมื่อมวลชนที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ลดน้อยลง
ก็ทำให้คอมมิวนิสต์สลายไปเอง
แต่กับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้มันมีความแตกต่างกัน
ผมเคยลงไปทำงานในพื้นที่และศึกษาสถานการณ์นี้เป็นเวลาหลายปี พบว่าแนวทางที่กลุ่มคนมลายูกลุ่มหนึ่งได้จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับรัฐไทย
นั่นคือ ‘กลุ่มบีอาร์เอ็น’ นั้น
แนวทางการต่อสู้ของเขาในสมัยก่อนจะคล้ายกับกลุ่มคอมมิวนิสต์
มีการตั้งฐานที่มั่นอยู่บนภูเขา และจัดตั้งหมู่บ้านไว้รอบฐาน กระทั่งถึงปี 2527 กลุ่มบีอาร์เอ็นจึงรู้ว่าการใช้รูปแบบเก่าไม่สามารถไปต่อได้
จึงได้เปลี่ยนแนวทางต่อสู้ใหม่ โดยการมาอยู่ในพื้นที่ราบ
และใช้เฉพาะชาวบ้านที่เป็นชาวมลายูในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นฐานในการต่อสู้กับรัฐไทย
ทั้งเป็นกำลังทหารหรือกลุ่มที่คอยสนับสนุน
เขาใช้เวลาในการบ่มเพาะกว่า 20 ปี
เรียกได้ว่าใช้เวลาในการปรับจากคนรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง
โดยปรับความคิดตั้งแต่เด็กๆ จนถึงวัยที่ทำงานได้
ต่อมาปี 2547 กลุ่มบีอาร์เอ็นก็เริ่มปฏิบัติการแรก นั่นคือ การปล้นปืนที่ค่ายปิเหล็ง
อ.เจาะไอร้องจ.นราธิวาส (ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ 4
ม.ค.47) และเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้
ซึ่งการปล้นปืนครั้งนั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าใครเป็นผู้กระทำ
เนื่องจากกลุ่มบีอาร์เอ็นได้เปลี่ยนวิธีการต่อสู้ มาเป็นการใช้ ‘องค์กรลับ’ แทนการต่อสู้แบบเปิดเผยตัวและฐานที่มั่น
เขาปิดบังทุกอย่าง
ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ ส่วนหน่วยยุทธวิธี
เขาจะใช้เป็นหน่วยขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า ‘อาร์เคเค’ ซึ่งหนึ่งชุดจะมีอาร์เคเคแค่
6 คนมาต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และใช้การต่อสู้แบบก่อการร้าย
เพราะจำนวนคนมีน้อยกว่าทหารไทย
ขณะที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่
ทางการสามารถจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องได้หลายราย
แต่ยังไม่รู้วิธีที่จะเข้าถึงกลุ่มบีอาร์เอ็นได้
จนวันหนี่งสามารถหาวิธีเข้าถึงและทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรายนั้นเปิดเผยตัวว่าเป็นบีอาร์เอ็น
จึงทำให้รู้ถึงโครงสร้างและทราบว่าบีอาร์เอ็นวางรากฐานไว้ตามหมู่บ้านในสามจังชายแดนภาคใต้เรียบร้อยแล้ว
โดยกำหนดหมู่บ้านไว้ 3 รูปแบบด้วยกัน คือ
1.หมู่บ้านสะอาด คือ
หมู่บ้านที่มีคณะกรรมการบริหารเป็นพรรคพวกบีอาร์เอ็นเอง อาจจะเป็นคณะกรรมการซ้อน
หรืออาจเป็นกลุ่มเดียวกับคณะกรรมการหมู่บ้านที่รัฐไทยจัดตั้งไว้
ซึ่งหน่วยรบอาร์เคเคสามารถเข้ามาอยู่อาศัยได้
2.หมู่บ้านสมบูรณ์
เป็นหมู่บ้านที่บีอาร์เอ็นจัดตั้งคนบริหารไว้แล้ว
มีอำนาจซ้อนอยู่ในหมู่บ้านที่บริหารโดยคณะกรรมการของรัฐไทย
และ 3.หมู่บ้านจัดตั้งทั่วไป
คือหมู่บ้านที่บีอาร์เอ็นจัดโครงสร้างไว้
แต่ยังไม่สามารถดำเนินการยึดเป็นของตนเองได้”
เข้าถึง-เข้าใจ “บีอาร์เอ็น”
คำถามต่อมาก็คือ
เมื่อสภาพปัญหาและวิธีการต่อสู้แตกต่างจากสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์ที่ไทยคุ้นเคย
แล้วทางออกของสถานการณ์นี้คืออะไร?
พล.อ.สำเร็จ บอกว่า ไม่มีวิธีอื่นนอกจากเรียนรู้บีอาร์เอ็นให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
“ผมคิดว่าจะต้องมีการศึกษาโครงสร้างหมู่บ้านที่บีอาร์เอ็นจัดตั้งไว้แล้ว
และต้องหาให้ได้ว่าใครเป็นผู้ที่ดูแลหมู่บ้านนั้น ซึ่งรัฐไทยควรต้องรู้ได้แล้ว
เพราะเวลาผ่านมากว่าสิบปีแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2551 เป็นต้นมา คณะบริหารหมู่บ้านที่บีอาร์เอ็นได้จัดตั้งเอาไว้
เริ่มไม่ต้องการเป็นสมาชิกของกลุ่ม เนื่องจากเกินกำหนด 1,000 วันที่จะได้รับเอกราชตามที่บีอาร์เอ็นเคยประกาศไว้
จึงมีบางส่วนเริ่มถอนตัวออกมา
ดังนั้น
การต่อสู้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ขณะนี้
ผมจึงมองว่าเป็นสงครามประชาชนที่ต่อสู้กับรัฐ
ซึ่งกลุ่มบีอาร์เอ็นจะอยู่ต่อไปได้ก็ต่อเมื่อมีประชาชนคอยสนับสนุน
ปัจจุบันมีบางคนหรือหลายคนที่ไม่อยากเข้าร่วมกลุ่มบีอาร์เอ็น
แต่จำเป็นต้องอยู่เพื่อความปลอดภัย
ฉะนั้นเจ้าหน้าที่รัฐควรเข้าไปทำความรู้จักคุ้นเคยกับประชาชนในหมู่บ้านที่บีอาร์เอ็นจัดตั้งไว้
เข้าไปบ่อยๆ และสร้างความเป็นมิตรกับชาวบ้าน ไม่ใช่สร้างศัตรู
ถ้าดึงชาวบ้านหรือแม้แต่ระดับคณะกรรมการหมู่บ้านมาเป็นฝ่ายเราได้
ให้คนเหล่านั้นไว้ใจทหาร มีปัญหาอะไรก็มาหามาบอกทหาร
ผมคิดว่าสถานการณ์โดยรวมก็จะดีขึ้น แต่วันนี้ถามว่าเราทำได้อย่างนั้นหรือยัง
ส่วนการออกลาดตระเวนพื้นที่ในเวลากลางวันที่เจ้าหน้าที่ทหารทำอยู่ทุกวันนี้
ยังไม่ใช่วีธีแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด เป็นเพียงการตั้งรับทางยุทธวิธีเท่านั้น
เพราะกลุ่มบีอาร์เอ็นต่อสู้โดยไม่เปิดเผยตัว แต่ของเราเปิดเผยตัว
จึงทำให้เขาทราบว่าทหารของเราที่ใส่เครื่องแบบออกลาดตระเวนนั้น มีกี่นาย
เวลาเดินทางเข้าออกกี่โมง จึงเป็นเป้าในการถูกโจมตีได้ง่าย
ดังนั้นทหารจึงต้องปฏิบัติเชิงรุก ซึ่งคนที่ไม่เคยรบมาก็จะไม่รู้ว่าจะต้องใช้วิธีรบแบบไหน
ความหมายในการรบแบบของผมคือ
การทำให้ทหารอาร์เคเคไม่สามารถปฏิบัติการเชิงรุกได้
เพราะอาร์เคเคทำได้แค่เชิงรุกเท่านั้น เช่น ทำอย่างไรให้วางระเบิดไม่ได้
หรือทำอย่างไรไม่ให้ไล่ยิงทหารของเราได้ ซึ่งการปฏิบัติภารกิจของอาร์เคเคแต่ละครั้งจะมีคนมาสำรวจพื้นที่ก่อนลงมือ
นั่นคือปัญหาที่เราต้องตีให้แตกว่าควรจะทำอย่างไรไม่ให้เขามาสำรวจพื้นที่ได้
หากเราทำได้ อาร์เคเคก็ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะปฏิบัติการเองในทุกเรื่อง”
ไฟใต้สงบ...ยังมองไม่เห็นทาง!
แล้วก็มาถึงคำถามยอดฮิตที่ว่า สถานการณ์ไฟใต้จะสงบลงได้หรือไม่? แทบไม่น่าเชื่อว่า
พล.อ.สำเร็จ กล้าฟันธงถึงขนาดว่า...ยังมองไม่เห็นทาง!
“ในมุมมองของผมยังมองไม่เห็นทางลงที่เหตุการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบทางไหน
แต่รัฐบาลควรหาทางทำให้ทหารอาร์เคเคของบีอาร์เอ็นไม่สามารถปฏิบัติการได้
แต่อุดมการณ์ของบีอาร์เอ็นจะคงอยู่จนกว่าจะสิ้นลมหายใจไป
ส่วนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหารของรัฐไทย
ควรจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของ กอ.รมน.
(กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร)
เพราะเป็นหน่วยที่มีกำลังทหารในมือมากที่สุดในเวลานี้ เพราะ กอ.รมน.ก็คือกองทัพบก
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา การทำงานของ กอ.รมน.ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน
บุคลากรในหน่วยงานมีความเหมาะสมกับหน้าที่จริงหรือไม่ เช่น
ควรจัดคนที่มีประสบการณ์ในการรบลงไปเป็นหัวหน้าหน่วยในสนามรบ
(หน่วยเฉพาะกิจที่รับผิดชอบแต่ละพื้นที่) และควรให้อำนาจในการตัดสินใจกับเขา
แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีความชัดเจน แค่ส่งคนลงไปทำหน้าที่เท่านั้น
ในฐานะที่ผ่านสนามรบมาหลายร้อยครั้ง
อยากฝากไปถึงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด
อย่าเอาสถานการณ์ภาคใต้มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง
รวมถึงฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลด้วย ที่สำคัญ กอ.รมน.ควรจะทำงานเพื่อประชาชน
และให้เกิดความสงบในจังหวัดชายแดนใต้อย่างจริงจัง
เพราะวันนี้กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ได้มีกองกำลังแข็งแกร่งเหมือนในอดีตอีกแล้ว”
Source : http://www.isranews.org/south-news/special-talk/item/45329-samrej.html
No comments:
Post a Comment