Wednesday, 2 March 2016

วิถีสามก๊ก ตอนที่ 4 ขงเบ้ง : ผู้บริหารสันดานเสมียณ


"ขงเบ้ง หรือ จูกัดเหลียง" ที่ปรึกษามือหนึ่งแห่งจ๊กก๊ก ของเล่าปี่ ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่ขงเบ้งก็เปรียบเหมือนกับ CEO ที่มีอำนาจหน้าที่ในหารบริหารธุรกิจแทนเจ้าของหรือก็คือมือปืนขององค์กรนั่นเอง ขงเบ้งเป็นผู้มีความฉลาดหลักแหลมทั้งในเรื่องการบริหารภายในองค์กรและการบริหารในเชิงกลยุทธ์และนโยบาย กล่าวคือ แต่เดิมองค์กรของเล่าปี่ก็ประกอบด้วยฝ่ายที่ปรึกษา ได้แก่ ซุนเขียน บิต๊ก (พี่ชายของนางบิฮูหยินผู้เป็นภรรยาเล่าปี่) กันหยง และฝ่ายปฏิบัติการได้แก่ กวนอู เตียวหุย จูล่ง หากมองเผินๆ จะพบว่าฝ่ายปฏิบัติการ (ฝ่ายบู๊) นั้นมีความเข้มแข็งมาก หากแต่ฝ่ายที่ปรึกษา (ฝ่ายบุ๋น) นั้นยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร (ดังที่สุมาเต๊กโชอาจารย์ของขงเบ้ง บอกกับเล่าปี่ว่าคนเหล่านี้เป็นเพียงผู้รู้หนังสือเท่านั้น หาใช่ปราชญ์ผู้พลิกแผ่นดินไม่) เพราะบุคคลดังกล่าวก็มาจากคนสนิทของเล่าปี่เอง ถ้าเทียบกับบริษัทหรือโรงงานๆ หนึ่งนั้น อาจจะมองได้ว่าฝ่ายผลิตและฝ่ายวิจัย มีความสามารถในการผลิตสินค้าที่ดีมากๆ หากแต่ขาดฝ่ายการตลาดและฝ่ายกลยุทธ์ที่จะช่วยขายสินค้าเหล่านี้ให้ได้ ดังนั้นขงเบ้งจึงเป็นบุคคลที่สามารถเข้ามาเติมเต็มส่วนนี้ให้กับเล่าปี่ได้ จนทำให้เล่าปี่ตั้งตัวเป็นกษัตริย์ได้ในที่สุด

ขงเบ้งด่าอองลองตกม้าตาย

    ตั้งแต่ขงเบ้งเข้ามารับราชการกับเล่าปี่ก็ได้แสดงฝีมือให้เห็น ตั้งแต่เริ่มพลิกสถานการณ์จากที่ไม่มีแผ่นดินจะอยู่ จนสามารถยึดเสฉวนและตั้งจ๊กก๊กขึ้นมาได้ เมื่อเล่าปี่เริ่มตั้งตัวได้และเริ่มยึดได้หัวเมืองต่างๆ ก็เริ่มหาที่ปรึกษาคนอื่นๆ มาเพื่อแบ่งเบาภาระของขงเบ้งที่เริ่มจะหนักเกินไป (ดังที่กล่าวในตอนที่แล้ว ว่าเล่าปี่ถึงแม้ไม่ได้เป็นเสนาธิการที่เก่ง แต่ความสามารถในการมองคนก็ไม่ได้เป็นรองใคร) สุดท้ายก็ได้ "บังทอง" มาช่วย แต่เสียดายบังทองกลับอายุสั้น ต้องมาโดนข้าศึกสังหารที่เนินหงส์ร่วง ทำให้สุดท้ายภาระในการบริหารต่างๆ ก็มาตกที่ขงเบ้งเกือบทั้งหมด ขงเบ้งจึงต้องรับงานทั้งด้านบริหาราชการแผ่นดิน รวมถึงต้องดูงานของกองทัพด้วย ตรงนี้เองที่เริ่มจะก่อปัญหาให้กับจ๊กก๊กและขงเบ้งเอง ทำให้เขาต้องตรากตรำทำงานอยู่คนเดียว ทำทุกอย่าง เปรียบได้กับ "ผู้บริหารสันดานเสมียณ" ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ข้อเสียของขงเบ้งคือ ไม่ค่อยไว้ใจให้ใครทำแทนเท่าที่ควร รวมถึงไม่มีทักษะในด้านการสร้างผู้มารับงานต่อ หรือการสอนงานให้กับผู้อื่น ซึ่งในตอนช่วงบั้นปลายดูเหมือนจะคิดได้ในจุดนี้ โดยการสอนศิษย์เอกอย่าง "เกียงอุย" แต่ก็ไม่ทันการ เพราะต้องมาตายเสียก่อนด้วยวัยเพียง 56 ปี (จากการทำงานหนักเกินไป) ทำให้สิ่งที่สอนเกียงอุยอยู่ จบลงแบบครึ่งๆกลางๆ สิ่งที่เกียงอุยได้จากขงเบ้งก็ครึ่งๆกลางๆ ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เท่าที่ควร จนในที่สุดจ๊กก๊กที่อยู่ได้ด้วยบารมีของขงเบ้งก็ต้องล่มสลายลงในเวลาต่อมาไม่นาน

     ในขณะเดียวกันทักษะที่ขงเบ้งขาดไปก็คือ "การมองคน" ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องมี ตัวอย่างเช่น การใช้ม้าเจ๊กออกรบในศึกใหญ่อย่างเกเต๋ง โดยไม่เชื่อคำเตือนของเล่าปี่ ที่บอกว่า "ม้าเจ๊กนั้นถึงฉลาดหลักแหลม แต่ปากรู้มากกว่าใจ ทำการใหญ่อย่าใช้ม้าเจ็ก" สุดท้ายม้าเจ๊กก็พ่ายแพ้กลับมา เสียยุทธภูมิสำคัญอย่างเกเต๋ง และเสียไพร่พลจำนวนมาก จนขงเบ้งต้องประหารม้าเจ๊ก (ทั้งน้ำตา)

ขงเบ้งประหารม้าเจ๊ก (ทั้งน้ำตา)

     ลองหันมาวิเคราะห์ขงเบ้งเทียบกับชีวิตมนุษย์เงินเดือนบ้าง จะพบว่าในชีวิตการทำงานย่อมมีผู้ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ที่จะต้องประสานงานด้วย ดังนั้นจึงควรที่จะมีการปล่อยให้ผู้ที่รับผิดชอบงานนั้นโดยตรงทำงานนั้นด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่อะไรก็เอามาทำเองเสียหมด ประเภทว่าไม่ไว้ใจให้ใครทำเลย สุดท้ายงานทุกอย่างจะมากองที่เรา ส่วนคนอื่นๆ ก็แทบไม่ต้องทำอะไร แบบนี้ย่อมไม่ใช่ผลดีแน่ เพราะเราเองจะสะสมทั้งความเครียด ความกดดัน และส่งผลต่อสุขภาพเราเองในที่สุด ทำให้เราจะไม่มีความสุขในการทำงาน เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ผู้อื่นควรจะรับผิดชอบ ก็ควรจะปล่อยให้เขารับผิดชอบบ้าง เราเอาเวลามาทำงานในหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดจะดีกว่า

      อีกมุมหนึ่งก็ควรมีการสอนงานให้กับผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือผู้ที่จะมาดูแทนเราในอนาคตด้วย เพราะเราคงไม่ได้ทำงานในตำแหน่งนี้ตลอดไป เช่นคนที่เป็นพนักงานการตลาด ก็ไม่ใช่จะอยู่อย่างนี้ตลอดไป เพราะต้องมีการเติบโตไปเป็นผู้จัดการ เป็นผู้บริหาร ในอนาคต จึงควรสอนคนเพื่อที่จะให้เขามาทำต่อจากเรา ในกรณีที่เราโยกย้ายหรือเลื่อนตำแหน่งด้วย มิฉะนั้นหากเรามีการโยกย้ายหรือเลื่อนตำแหน่งแล้ว เราก็จะต้องคอยมาดูงานเก่าอยู่เรื่อย เพราะเราไม่มีคนทำแทน หรือคนทำแทนทำได้ไม่ดี สุดท้ายเราก็กลายเป็นว่าต้องมาดูทั้งสองส่วนพร้อมกัน ประสิทธิภาพการทำงานก็ย่อมลดลงด้วย การสอนงานให้กับรุ่นน้องหรือคนรุ่นใหม่ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ไม่เช่นนั้นเราก็จะกลายเป็น ผู้บริหารสันดานเสมียณ เหมือนขงเบ้งในที่สุด.


Source : http://samkokforsalaryman.blogspot.my/


No comments:

Post a Comment